บทความ : พลิกโฉมหลักสูตรการผลิตครูวิชาชีพ

พลิกโฉมหลักสูตรการผลิตครูวิชาชีพ

Transforming the curriculum for producing professional teachers

 

โดย ผศ.สงกรานณ์ ขุนทิพย์ทอง

          การอุดมศึกษาไทยปัจจุบันกำลังเผชิญกับเทคโนโลยีทางการศึกษาสมัยใหม่ที่พร้อมจะนำหน้ากระบวนการทางด้านการศึกษาที่ใช้กันมายาวนาน วิกฤตการณ์ที่ไม่สามารถผลิตบัณฑิตหรือคนวัยทำงานให้มีทักษะการทำงานสมัยใหม่ หรือสมรรถนะที่สูงพอจะเผชิญกับการทำงานในยุคเปลี่ยนโลก ทำให้เกิดคำถามว่า กระบวนการผลิตครูวิชาชีพ และองค์ประกอบในการผลิตที่จะส่งเสริมศักยภาพของบุคลากรทางการศึกษาของไทยพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงหรือยัง การปฏิรูปการอุดมศึกษากับการผลิตบัณฑิตให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการศึกษาในปัจจุบัน  นโยบายและยุทธศาสตร์ อววน.

พ.ศ. 2566 – 2570 กับการเป็นนโยบายและยุทธศาสตร์หลักของประเทศด้านการอุดมศึกษา อันมีจุดประสงค์เป็นการพลิกโฉมครั้งสำคัญที่มีจุดมุ่งเน้นและประสานทั้งภาคการอุดมศึกษา ภาคการวิจัย และนวัตกรรม โดยใช้หลักการเชิงนโยบายที่เป็นการก้าวกระโดดของประเทศ บูรณาการข้ามศาสตร์ ข้ามกระทรวง รวมทั้งการสร้างความร่วมมือภาคีภาคส่วนต่างๆ มาร่วมยกระดับการพัฒนาลักษณะ Co-Production และ Co-Investment เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน กับการขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายของประเทศการพลิกโฉมการอุดมศึกษา การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา จึงควรจัดการให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้นักศึกษาได้ปฏิบัติการจริง มากกว่าการสวมบทบาทสมมุติ หรือการจำลองเหตุการณ์ เปลี่ยนการฝึกเป็นการปฏิบัติการ ให้ความสำคัญกับผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง จัดกระบวนการเรียนรู้จากการลงมือทำงาน เกิดการเสาะแสวงหาและจัดการระเบียบข้อมูลเพื่อให้ได้มาซึ่งองค์ความรู้ที่แท้จริงจากการปฏิบัติ ได้ค้นหาวิธีการจัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองและสังคมวิชาชีพ มีอิสระในการศึกษา ได้รู้จักการทำงานร่วมกับผู้อื่น การอุดมศึกษารูปแบบนี้จะสร้างการเปลี่ยนแปลงผลสัมฤทธิ์ของการผลิตครูวิชาชีพ บัณฑิตเกิดทักษะสำคัญ และสมรรถนะในการปฏิบัติงานสายวิชาชีพครูได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          การพลิกโฉมการผลิตครูวิชาชีพ ในยุคการเปลี่ยนแปลงสังกัดและโครงสร้างการอุดมศึกษา จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือของหน่วยงานเชี่ยวชาญในขั้นตอนการผลิตบัณฑิต การเชื่อมโยงกระบวนการผลิตที่เป็นระบบอย่างมีประสิทธิภาพ หน่วยงานร่วมผลิตที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนการผลิตบัณฑิต เพื่อความสอดคล้องกับบริบทของการพัฒนานิสิตนักศึกาวิชาชีพครู การศึกษาศาสตร์และฝึกทักษะทางการศึกษา การฝึกปฏิบัติการระหว่างเรียน การฝึกประสบการณ์วิชาชีพ เหล่านี้บนความร่วมมือระดับกระทรวง ระดับหน่วยงานกำกับดูแล ระดับสถาบันการศึกษา และโรงเรียนร่วมผลิตครูวิชาชีพ

 

หลักสูตรการร่วมผลิตครูวิชาชีพ

จากนโยบายการปฏิรูปการอุดมศึกษาของไทย เพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาสำหรับบุคลากรวัยทำงานกระบวนการผลิตบัณฑิตวิชาชีพครูที่ควรได้รับการพัฒนาสู่ความร่วมมือและทันสมัย การผลิตครูวิชาชีพเพื่อการยกระดับคุณภาพกระบวนการผลิตบัณฑิตจะส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ของนักเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วประเทศได้  สถาบันการศึกษาที่มีหน้าที่ผลิตบัณฑิตครูวิชาชีพ และเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา จึงควรให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนกระบวนการในหลักสูตรการเรียนการสอน โดยปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่สร้างเสริมให้นักศึกษาได้เข้าถึงแหล่งบ่มเพาะคุณลักษณะและบุคลิกภาพความเป็นครูด้วยการปฏิบัติงานจริง เปลี่ยนรูปแบบการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู เป็นการปฏิบัติการอันจะบ่มเพาะความเป็นครูอย่างเข้มข้น ประสบการณ์ตรงในฐานะครูปฏิบัติการในโรงเรียน จะก่อเกิดเป็นทักษะและสมรรถนะที่ต้องใช้จริง เกิดความมั่นใจในวิชาชีพครู อันเป็นการยกระดับกระบวนการผลิตบัณฑิตครูวิชาชีพ แนวทางการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการผลิตครูวิชาชีพ เพื่อการยกระดับมาตรฐานการอุดมศึกษาได้ เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบหลัก

 3 ประการ คือ

1. การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรผลิตครูวิชาชีพ

2. การร่วมมือผลิตครูวิชาชีพ

3. การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ

 

1. การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรผลิตครูวิชาชีพ

กระบวนการผลิตบัณฑิตวิชาชีพครูหลังการคัดเลือกนักเรียนเข้าสู่การศึกษาระดับอุดมศึกษา คณะครุศาสตร์ (2560) หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต เริ่มจากการศึกษาพัฒนาศาสตร์ความรู้ทางการศึกษา จรรยาบรรณวิชาชีพ มาตรฐานการปฏิบัติตน การฝึกปฏิบัติการระหว่างเรียน และการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู ตลอดจนกิจกรรมในกระบวนการผลิตครูวิชาชีพที่จำเป็น หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับการผลิตครูวิชาชีพปัจจุบันคือ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงศึกษาธิการ และคุรุสภา  การกำหนดเป็นนโยบายความร่วมมือจะเป็นการเชื่อมโยงกระบวนการผลิตบัณฑิตที่มีประสิทธิภาพ สนองความต้องการปฏิรูปการอุดมศึกษาให้กับประเทศ โดยการเปลี่ยนกระบวนการของหลักสูตรผลิตครูวิชาชีพแนวใหม่ ให้หน่วยงานที่มีความชำนาญในการปฏิบัติงานจริงกับบทบาทความเป็นครูวิชาชีพ เป็นผู้ร่วมการผลิตบัณฑิตครูวิชาชีพ จะแนวทางในการส่งเสริมสมรรถนะวิชาชีพแก่นักศึกษาได้ตรงตามเป้าหมายการผลิตที่สูงสุดได้

กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสถาบันอุดมศึกษาผู้ผลิตบัณฑิตศึกษาศาสตร์ และครุศาสตรบัณฑิต เป็นหน่วยงานหลักกับบทบาทการพัฒนาหลักสูตรการผลิตบัณฑิตครูวิชาชีพ มุ่งพัฒนาและสร้างเสริมสมรรถนะของนิสิต นักศึกษาวิชาชีพครู ด้านความรู้ความสามารถทางด้านศาสตร์การสอน  มาตรฐานด้านความรู้ มาตรฐานด้านการปฏิบัติตน ประสบการณ์วิชาชีพ และจรรยาบรรณวิชาชีพครู การฝึกปฏิบัติการวิชาชีพระหว่างเรียน กิจกรรมส่งเสริมความเป็นครู ตลอดระยะเวลาการศึกษาในสถานบันอุดมศึกษา 3 ปีการศึกษา

กระทรวงศึกษาธิการ โดยสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นหน่วยงานหลักกับบทบาทการพัฒนาหลักสูตรครูฝึกวิชาชีพ และกำกับดูแลการปฏิบัติงานในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานตลอดระยะเวลา 1 ปีการศึกษา ให้เกิดการพัฒนาทักษะและสมรรถนะวิชาชีพครูตรงตามเป้าหมายการใช้บัณฑิต การฝึกปฏิบัติการตามหลักสูตรครูฝึกวิชาชีพ จะเป็นช่วงเวลาอันสำคัญในการเพิ่มทักษะ สมรรถนะและจิตวิญญาณความเป็นครูก่อนการเข้าสู่เส้นทางของครูประจำการ การพัฒนาหลักสูตรครูฝึกวิชาชีพ และการกำกับมาตรฐานการฝึกปฏิบัติการโดยผู้ใช้บัณฑิตให้สอดคล้องกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทดแทนการให้ความร่วมมือฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูแบบปัจจุบัน จะเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมหลักสูตรการผลิตครูวิชาชีพของประเทศให้ยกระดับมาตรฐานการผลิตครูวิชาชีพได้

          คุรุสภา ในฐานะองค์กรวิชาชีพครู รับบทบาทกำกับดูแลมาตรฐานวิชาชีพ จรรยาบรรณวิชาชีพ

จำนวนการผลิตบัณฑิต และควบคุมการปฏิบัติงานของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ ให้การสนับสนุนส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพตามมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และการพักการใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู

สรุปความการพลิกโฉมหลักสูตรผลิตครูวิชาชีพ คือความร่วมมือในกระบวนการผลิตครูวิชาชีพของประเทศ เป็นหน้าที่ความร่วมมือของ 2 กระทรวงและ 1 องค์กรวิชาชีพ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของประเทศ และกำกับมาตรฐานการประกอบวิชาชีพครู เป็นหน่วยงานหลักสำคัญในการดำเนินงานด้านการพัฒนาพลเมือง โดยเฉพาะครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้แก่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมโดยสถาบันอุดมศึกษาในกำกับ กระทรวงศึกษาธิการโดยสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และองค์กรวิชาชีพครูสำนักงานคุรุสภา การกำหนดนโยบายการผลิตร่วมกันของ 3 หน่วยงานสำคัญ จะส่งผลต่อบันทึกความร่วมมืออย่างเป็นทางการของหน่วยงานในสังกัด อันเป็นการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือในการผลิตครูวิชาชีพอย่างเป็นรูปธรรม เกิดประสิทธิภาพในการผลิต และประสิทธิผลสู่การพัฒนาพลเมืองของประเทศอย่างต่อเนื่อง

 

2. การร่วมมือผลิตครูวิชาชีพ

    สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานกับการกำกับดูแลสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อการผลิตครูวิชาชีพ คือการกำหนดนโยบายความร่วมมือเป็นผู้ร่วมผลิต อนุญาตให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่ได้มาตรฐานการผลิตครูวิชาชีพ เปิดรับนิสิตนักศึกษาวิชาชีพครูเข้าปฏิบัติการครูฝึกวิชาชีพ ประกอบด้วย โรงเรียนระดับประถมศึกษา โรงเรียนระดับมัธยมศึกษา ในฐานะโรงเรียนร่วมผลิตครูวิชาชีพ ทำการพัฒนาหลักสูตรครูฝึกวิชาชีพ สร้างการการบ่มเพาะบุคลิกภาพความเป็นครู จิตวิญญาณความเป็นครู และเป็นแหล่งสร้างเสริมทักษะและสมรรถนะครูมืออาชีพแก่นิสิตนักศึกษาที่เข้าฝึกปฏิบัติการครูฝึกวิชาชีพ การพัฒนาหลักสูตรครูฝึกวิชาชีพโดยผู้เชี่ยวชาญในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จะเป็นการยกระดับมาตรฐานโรงเรียนร่วมผลิตครูวิชาชีพ จึงถือเป็นอีกส่วนหนึ่งในความร่วมมือในกระบวนการผลิตครูวิชาชีพ หลักสูตรครูฝึกวิชาชีพที่ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการประเมินหลักสูตร อันประกอบด้วยผู้ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคุรุสภา

“หลักสูตรครูฝึกวิชาชีพ”  เป็นหลักสูตรความร่วมมือในการผลิตครูวิชาชีพ โดยการยกระดับมาตรฐานสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่จะรับนักศึกษาปฏิบัติการครูฝึกวิชาชีพ  สถานศึกษาขั้นพื้นฐานกับบทบาทในกระบวนการร่วมผลิตครูวิชาชีพอย่างมีคุณภาพตรงตามเป้าหมายการใช้งานจริง โรงเรียนร่วมผลิตครูวิชาชีพ หมายถึง โรงเรียนที่มีความพร้อมด้านโครงสร้างการบริหารจัดการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่ได้มาตรฐาน และได้รับการอนุมัติหลักสูตรครูฝึกวิชาชีพจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ นันทวัฒน์ ภัทรกรนันท (2560) การดำเนินการบริหารหลักสูตรภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสถาบันอุดมศึกษาที่มีนิสิตนักศึกษาเข้าฝึกปฏิบัติการครูฝึกวิชาชีพ หลักสูตรครูฝึกวิชาชีพครูฝึกวิชาชีพควรกำหนดองค์ประกอบสำคัญที่ต้องเคร่งครัด คือการกำหนดมาตรฐานครูพี่เลี้ยง ครูพี่เลี้ยงผ่านการพัฒนาเพื่อรองรับการฝึกปฏิบัติการครูฝึกวิชาชีพโดยเฉพาะ รวมถึงการมีส่วนร่วมของบุคลากรในโรงเรียนร่วมผลิตครูวิชาชีพ กับการบริหารหลักสูตร และการดำเนินงานตามหลักสูตร หลักสูตรครูวิชาชีพที่ผ่านการอนุมัติสามารถเปิดรับค่าลงทะเบียนการฝึกปฏิบัติการครูฝึกวิชาชีพจากนักศึกษาที่ประสงค์เข้ารับการฝึกปฏิบัติการได้

 

สรุปข้อตกลงความร่วมมือ คือการยกระดับมาตรฐานโรงเรียนผลิตบัณฑิตครูวิชาชีพ เป็นการพัฒนาให้มีหลักสูตรครูฝึกวิชาชีพ ในโรงเรียนผลิตบัณฑิตครูวิชาชีพ เพื่อรองรับการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูของนิสิตนักศึกษา โดยมีเป้าหมายการพัฒนานิสิตนักศึกษา ตามมาตรฐานของภาระงานในหน้าที่ครูประจำการ มีการพัฒนาและบริหารหลักสูตรครูฝึกวิชาชีพ ที่ผ่านการอนุมัติหลักสูตรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  โรงเรียนผลิตบัณฑิตครูวิชาชีพสามารถเปิดรับการลงทะเบียนการเข้าฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูของนิสินนักศึกษา แบบมีค่าจ่ายตามหลักสูตรที่ได้รับการอนุมัติได้

 

3. การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ

          ประสบการณ์ชีวิตคือที่มาของวิธีการแก้ปัญหาเพื่อการดำเนินชีวิตที่ถูกทางถูกเวลาของมนุษย์ จึงก่อเกิดทฤษฎีปรัชญาในการดำเนินชีวิตมากมายอย่างต่อเนื่อง และความเชื่อหนึ่งของกลุ่มนักปรัชญาประสบการณ์นิยม ที่ว่า ความอยู่รอดย่อมขึ้นอยู่กับการปรับตัวให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมปัจจุบัน และใช้เป็นแก่นสารแห่งการศึกษาได้ การพัฒนามนุษย์ให้รู้จักปรับตัวจึงจำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์เพื่อการต่อยอดเป็นการพัฒนา ประทุม อังกูรโรหิต (2543) คำว่าประสบการณ์ประสบการณ์ปฐมภูมิ คือ สิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตแต่ยังไม่สังเคราะห์เป็นความรู้ ยังไม่ได้ผ่านการคิดไตร่ตรอง เป็นเพียงประสบการณ์ที่พบเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของทุกสิ่งที่อยู่แวดล้อมตัวมนุษย์  ประสบการณ์ทุติยภูมิ คือ สิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิต มนุษย์ได้ใช้วิจารณญาณโดยผ่านกระบวนการคิดไตร่ตรองจนเกิดเป็นความรู้ ที่จะพัฒนาสู่ความสามารถ เป็นสมรรถนะด้านทักษะในการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ ประสบการณ์ปฐมภูมิจึงเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ทุติยภูมิ เป็นข้อมูลเริ่มแรกสำหรับใช้ประกอบการใช้วิจารณญาณ ศิริพร หงส์พันธุ์ (2540)  การศึกษาที่ดีย่อมไม่ยึดติดกับรูปแบบการศึกษารูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หากแต่ประสบการณ์ทั้งปวงคือสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้เรียน การส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากสถานการณ์ที่เป็นจริง จะก่อเกิดความเจริญงอกงามทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญา จิตใจและคุณธรรมได้ การศึกษาจึงควรส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดประสบการณ์ใหม่ๆที่ต้องใช้จริงในปัจจุบัน เพื่อเป็นการเปลี่ยนชีวิตวิถีใหม่ นำไปสู่ความรู้เพื่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาและคุณภาพชีวิตต่อไป

    “ครูฝึกวิชาชีพ” เป็นรูปแบบการฝึกปฏิบัติการครูฝึกวิชาชีพ เป็นการนำ “หลักวิธีการเรียนรู้โดยการฝังตัวในสถานประกอบการเพื่อการพัฒนาตนเอง” การฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูในอดีตมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แต่ถึงอย่างไรก็ตามยังพบว่าความเห็นจากผู้บริหารโรงเรียนซึ่งถือเป็นผู้ใช้บัณฑิตหลังจบการศึกษาให้ความเห็นว่า “สถาบันอุดมศึกษาผลิตบัณฑิตได้ไม่ตรงตามความต้องการของผู้ใช้บัณฑิต” ด้วยสิ่งที่ปรากฏจริงข้างต้น จึงถึงเวลาแล้วที่จะปฏิรูปกระบวนการผลิตบัณฑิต เพื่อให้นักศึกษาก่อเกิดทักษะและสมรรถนะความเป็นครูมืออาชีพ รองรับความต้องการของผู้ใช้บัณฑิตและสังคม รูปแบบการจัดการศึกษาด้วยกระบวนการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง จากสถานการณ์จริง มีการกล่าวถึงมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แต่รูปธรรมในการปฏิบัติและสถานการณ์ที่กล่าวถึง คือสิ่งที่ต้องมาพิจารณาว่าจริงเพียงใด โดยเฉพาะกระบวนการฝึกวิชาชีพ ที่ควรได้รับการส่งเสริมพัฒนาให้นักศึกษาวิชาชีพครู ได้มีโอกาสผ่านการเรียนรู้ในทุกมิติกับภาระงานในหน้าที่ครู นิสิตนักศึกษาได้รับรู้ความเป็นจริงกับการเป็นครูประจำการในโรงเรียนเสียตั้งแต่ระหว่างศึกษา การฝังตัวในโรงเรียนโดยมีครูพี่เลี้ยงผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้แนะนำส่งเสริม จะก่อเกิดความก้าวหน้าและเป็นประโยชน์ต่อวงการศึกษาวิชาชีพครู

         

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ครูฝึกวิชาชีพ

 

“รูปแบบครูฝึกวิชาชีพ” เป็นการเปลี่ยนการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู จากนักศึกษาเป็นครูฝึกวิชาชีพนักศึกษามีโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้ของความเป็นครูแบบรอบด้าน โดยการกำหนดภาระงานที่ต้องฝึกปฏิบัติ ตามหลักสูตรครูฝึกวิชาชีพ รูปแบบครูฝึกวิชาชีพเน้นให้ความสำคัญความเป็นครูปฏิบัติการในโรงเรียน ส่งเสริมบุคลิกภาพและความมั่นใจ ตลอดจนความไว้วางใจขณะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน ผู้ปกครอง กับคณะครูและบุคลากรทางการศึกษาอื่นในโรงเรียน ก่อเกิดการบ่มเพาะจิตวิญญาณความเป็นครูกับนักศึกษาในระหว่างการฝึกวิชาชีพ จากการศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนารูปแบบการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูที่ผ่านมา ผู้เขียนจึงสรุปเป็นองค์ความรู้ รูปแบบครูฝึกวิชาชีพจะตอบโจทย์การปฏิรูปการอุดมศึกษาในยุคของเปลี่ยนแปลงได้

 

           1. งานวิจัย “รูปแบบการฝึกประสบการณ์ครูผู้ช่วยในสถานศึกษา ของนักศึกษาชั้นปีที่ 5

คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ประจำปีการศึกษา 2559” รูปแบบการฝึกประสบการณ์ครูผู้ช่วยในสถานศึกษา เป็นศึกษานวัตกรรมเพื่อการพัฒนารูปแบบการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู ด้วยการประยุกต์วิธีการปฏิบัติงานของครูผู้ช่วย กับวิธีการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูของนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู เป็นรูปแบบการฝึกประสบการณ์ครูผู้ช่วยในสถานศึกษา ที่แบ่งขั้นการปฏิบัติออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ

          1) ขั้นเตรียม เป็นการจัดประชุมนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู เพื่อการวางแผนการฝึกประสบการณ์ครูผู้ช่วยในสถานศึกษา ร่วมกับศูนย์ฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู  อาจารย์นิเทศก์ ผู้บริหารสถานศึกษา หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ และครูพี่เลี้ยง 

          2 ) ขั้นปฏิบัติ คือการกำหนดบทบาทของผู้เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยบทบาทนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู บทบาทผู้บริหารสถานศึกษา บทบาทครูพี่เลี้ยง และบทบาทของอาจารย์นิเทศก์ 

          3) ขั้นประเมิน คือการประเมินความเป็นครูวิชาชีพร่วมกับการประเมินประสิทธิภาพการสอนในชั้นเรียน และมีการร่วมประชุมพิจารณาอนุมัติผลการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู ของผู้เกี่ยวข้อง  พบว่า รูปแบบการฝึกประสบการณ์ครูผู้ช่วยในสถานศึกษาฯ  มีคุณภาพด้านความเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาวิชาชีพครู อยู่ในระดับมากที่สุด และมีคุณภาพด้านความเป็นไปได้ในการนำไปใช้ปฏิบัติ ด้านความเหมาะสมกับบริบทของการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู และด้านความถูกต้องของขั้นตอนและวิธีการ อยู่ในระดับ มาก

 

            2. งานวิจัย “การทดลองใช้รูปแบบการฝึกประสบการณ์ครูผู้ช่วยในสถานศึกษา ของนักศึกษาชั้นปีที่ 5 คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ประจำปีการศึกษา 2561” กลุ่มทดลองเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 5 จำนวน 31 คน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการทดลองใช้รูปแบบการฝึกประสบการณ์ครูผู้ช่วยในสถานศึกษา ด้วยวิธีการปฏิบัติ 3 ขั้นตอน ตามรูปแบบการฝึกประสบการณ์ครูผู้ช่วยในสถานศึกษา เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ รูปแบบการฝึกประสบการณ์ครูผู้ช่วยในสถานศึกษา และแบบประเมินผลการทดลองใช้รูปแบบการฝึกประสบการณ์ครูผู้ช่วยในสถานศึกษา พบว่า ภาพรวมโดยเฉลี่ยของผลการประเมินการทดลองใช้อยู่ในระดับดีมากทุกขั้นตอน และเมื่อลำดับผลการประเมินเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย คือ ขั้นปฏิบัติ( = 4.58) ขั้นประเมิน( = 4.58)   และขั้นเตรียม ( = 4.53)

            3. งานวิจัย “การฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูแบบอิงสมรรถนะ ของนักศึกษาชั้นปีที่ 5 คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ประจำปีการศึกษา 2562” งานวิจัยนี้มีความมุ่งหมายเพื่อพัฒนารูปแบบการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู  กลุ่มทดลองเป็นนักศึกษาสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย สาขาวิชาภาษาไทย สาขาวิชาคณิตศาสตร์ สาขาวิชาสังคมศึกษา สาขาวิชาภาษาอังกฤษ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป รวม 43 คน โดยวิธีการกำหนดสมรรถนะหลักซึ่งเป็นสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ครู ใช้ในการปฏิบัติระหว่างการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูตลอดระยะเวลา 1 ปีการศึกษา พบว่า ผลการประเมินโดยรวมค่าเฉลี่ย อยู่ในระดับดีมาก ทั้ง 3 ขั้นตอน และเมื่อพิจารณาสมรรถนะหลักที่ใช้ในขั้นปฏิบัติของงานวิจัย พบว่า ค่าเฉลี่ยผลการประเมินอยู่ในระดับดีมาก จำนวน 6 สมรรถนะ คือการเสนอหัวข้องานวิจัยในชั้นเรียน การแต่งกายเป็นครูฝึกวิชาชีพ การแสดงออกถึงความมีสัมมาคารวะ การจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน การปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยครูที่ปรึกษาประจำชั้น และการปฏิบัติหน้าที่อบรมวินัยต่อที่ประชุมนักเรียน อยู่ในระดับดี จำนวน 1 สมรรถนะคือ การปฏิบัติงานฝ่ายบริหารวิชาการฝ่ายบริหารกิจการนักเรียน และฝ่ายบริหารงานทั่วไปตามลำดับ ด้านความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องกับการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูแบบอิงสมรรถนะ และยังพบว่าเมื่อแยกกลุ่มผู้ประเมิน กลุ่มผู้บริหารโรงเรียนประเมินอยู่ในระดับดีมาก ค่าสูงสุดที่ขั้นการประเมิน กลุ่มครูพี่เลี้ยงประเมินอยู่ในระดับดีมาก ค่าสูงสุดที่ขั้นการประเมินผล กลุ่มนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูประเมินอยู่ในระดับดีมาก ค่าสูงสุดที่ขั้นการปฏิบัติ กลุ่มหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ประเมินอยู่ในระดับดีมาก ค่าสูงสุดที่ขั้นเตรียมและขั้นการประเมิน และกลุ่มอาจารย์นิเทศก์ประเมินอยู่ในระดับดีมาก ค่าสูงสุดที่ขั้นการปฏิบัติ

          4. งานวิจัย “การพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพครูโดยกระบวนการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา ของนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ประจำปีการศึกษา 2563” งานวิจัยมีความมุ่งหมายเพื่อพัฒนารูปแบบการพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพครูกับนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูเต็มรูป  เพื่อทดลองใช้รูปแบบการพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพครูโดยกระบวนการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา และเพื่อประเมินผลการใช้รูปแบบการพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพครูโดยกระบวนการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา พบว่า ผลการประเมินบุคลิกภาพความเป็นครูของนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู มีบุคลิกภาพในระดับ ดี  ผลการประเมินจิตวิญญาณความเป็นครูของนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู โดยรวมอยู่ในระดับดี  ผลการวิเคราะห์ปัญหาจากการใช้รูปแบบการพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพครูโดยกระบวนการฝึกปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา พบปัญหาที่เกิดจากการใช้รูปแบบโดยรวมมีปัญหาอยู่ในระดับ น้อย และผลการวิเคราะห์การประเมินการใช้รูปแบบการพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพครูโดยกระบวนการฝึกปฏิบัติการสอนในสถานศึกษา ประเมินการใช้อยู่ในระดับมากที่สุดทุกข้อ

          งานวิจัยข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อพัฒนารูปแบบ “ครูฝึกวิชาชีพ” ให้เป็นนวัตกรรมที่จะปรับปรุงรูปแบบการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู  ให้สามารถเพิ่มผลสัมฤทธิ์ความเป็นครูวิชาชีพหลังการฝึกปฏิบัติการครูฝึกวิชาชีพได้ การพัฒนาทักษะที่จะเป็นสมรรถนะในการปฏิบัติจริงกับภาระงานในหน้าที่ครูประจำการ สามารถวัดและประเมินผลได้ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (2553) กำหนดสมรรถนะในราชการพลเรือนเป็นคู่มือสมรรถนะหลักในการพิจารณากำหนดตำแหน่งข้าราชการ

องค์ประกอบของรูปแบบครูฝึกวิชาชีพ  1) การประชุมร่วมเพื่อชี้แจงและสร้างความเข้าใจเป้าหมายของครูฝึกวิชาชีพ  2) การกำหนดบทบาทและการปฏิบัติของครูฝึกวิชาชีพให้ได้มาตรฐานการฝึกวิชาชีพครู (หลักสูตรครูฝึกวิชาชีพ)  3) การติดตามและประเมินผลโดยการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน

การพลิกโฉมหลักสูตรการผลิตบัณฑิตครูวิชาชีพที่ได้ผลดี ตรงตามเป้าหมายการผลิตและผู้ใช้บัณฑิต จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการบริหารความร่วมมือ และความรับผิดชอบต่อกระบวนการผลิตร่วมกันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตบัณฑิตอย่างเป็นรูปธรรม เปลี่ยนวิธีการผลิตจากทิศทางที่ต่างคนต่างดำเนินการ ขาดการเชื่อมโยงส่งต่อในขั้นตอนการผลิตที่สำคัญ ขั้นตอนการคัดเลือกเข้าเรียนและบ่มเพาะศาสตร์วิชาการที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพครูโดยสถาบันอุดมศึกษา ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ขั้นการฝึกปฏิบัติงานในหน้าที่ภาระงานครูโดยสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และขั้นการควบคุมการผลิตบัณฑิต จำนวนการผลิต มาตรฐานวิชาชีพ และจรรยาบรรณวิชาชีพโดยองค์กรวิชาชีพ(คุรุสภา) จะเกิดเป็นความสำเร็จของการปฏิรูปการอุดมศึกษาด้านกระบวนการผลิตบัณฑิตครูวิชาชีพได้

 

อ้างอิง

คณะครุศาสตร์. (2560). หลักสูตรครุศาสตร์บัณทิตหลักสูตร(หลักสูตร 5 ปี)ปรับปรุง พ.ศ.2560.

       มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.งานฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู คณะครุศาสตร์. (2559).

       คู่มือฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.

นันทวัฒน์ ภัทรกรนันท์. (2560). การพัฒนารูปแบบการฝึกประสบการณ์วิชาชีพของนักศึกษาหลักสูตร

       ศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาการศึกษาตลอดชีวิต คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.

       สืบค้นเมื่อ วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2563. จาก Veridian E-Journal,Silpakorn University

       : ISSN 1906 – 3431.

ประทุม อังกูรโรหิต.(2543).ปรัชญาปฏิบัตินิยม รากฐานปรัชญาการศึกษาในสังคมประชาธิปไตย.กรุงเทพ ฯ

       : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ศิริพร หงส์พันธุ์. (2540). การพัฒนารูปแบบการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูตามทัศนะของอาจารย์พี่เลี้ยง

       ผู้ช่วยฝ่ายวิชาการ และผู้บริหารโรงเรียนในหน่วยฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูของสถาบันราชภัฏ

       สุรินทร์. คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์.

สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน . (2553). คู่มือการกำหนดสมรรถนะในราชการพลเรือน:

       คู่มือสมรรถนะหลัก(เผยแพร่ พ.ศ. 2553). โครงการศึกษาข้อมูลและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อรองรับ

       การกำหนดตำแหน่งในส่วนราชการ : สำนักพัฒนาระบบจำแนกตำแหน่งและค่าตอบแทน

สงกรานณ์ ขุนทิพย์ทอง. (2559). รูปแบบการฝึกประสบการณ์ครูผู้ช่วยในสถานศึกษา ของนักศึกษาชั้นปีที่ 5

       คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ประจำปีการศึกษา 2559. คณะครุศาสตร์

       มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.

__________________. (2561). การทดลองใช้รูปแบบการฝึกประสบการณ์ครูผู้ช่วยในสถานศึกษาของ

       นักศึกษาชั้นปีที่ 5 คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ประจำปีการศึกษา 2561.

        คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

__________________. (2562). การฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูแบบอิงสมรรถนะ ของนักศึกษาชั้นปีที่ 5

       คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ประจำปีการศึกษา 2562. คณะครุศาสตร์

       มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

__________________. (2563). การพัฒนาสมรรถนะวิชาชีพครูโดยกระบวนการปฏิบัติการสอนใน

       สถานศึกษา ของนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

        ประจำปีการศึกษา 2563. คณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.

 


Last modified: Monday, 27 June 2022, 9:44 PM